เกี่ยวกับระบบ

    “ระบบสารสนเทศข้อมูลก๊าซเรือนกระจกเชิงพื้นที่ เป็นระบบที่แสดงข้อมูลการปล่อย การกักเก็บ และการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบเชิงพื้นที่ อ้างอิงการคำนวณปริมาณการปล่อยและการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกตามคำแนะนำในคู่มือการคำนวณของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับปี 2006 (2006 IPCC Guidelines for National Greenhouse Gas Inventories) และอ้างอิงค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เท่ากับ 1 ก๊าซมีเทน (CH4) เท่ากับ 25 และก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) เท่ากับ 298” “สำหรับข้อมูลการปล่อยและการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร ป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในช่วงปี พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2555 ทำการคำนวณปีฐานจากข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินในช่วงปี พ.ศ. 2545 และ พ.ศ. 2550 จากกรมพัฒนาที่ดิน ตามลำดับ โดยมีหน่วยแสดงผล 1 ตารางกริด เท่ากับ 1 เฮกตาร์ หรือ 10,000 ตารางเมตร หรือ 6.25 ไร่”

ความเป็นมาของโครงการ

    “ภารกิจหลักของ อบก. คือ การเป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย” โดย อบก. มีความตระหนักถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการสนับสนุนการแสดงผลและเผยแพร่ข้อมูลการปล่อย การกักเก็บ และการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเชิงพื้นที่บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อเป็นการส่งเสริมการวางแผนการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่ของประเทศไทย

นิยามศัพท์ และคำย่อที่ใช้ในระบบ

นิยามศัพท์

ก๊าซเรือนกระจก*
(Greenhouse Gas)
เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน (หรือรังสีอินฟราเรด) ได้ดี ก๊าซเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกให้คงที่ เมื่อมีก๊าซเหล่านี้ในบรรยากาศมากขึ้น บรรยากาศโลกจึงมีอุณหภูมิสูงขึ้น ก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิด เช่น ไอน้ำ โอโซน ถือเป็นกลุ่มก๊าซที่จะก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก แต่เมื่อพิจารณาตาม พิธีสารเกียวโตแล้ว จะระบุก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญไว้ 6 ชนิด คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6)
การปล่อยก๊าซเรือนกระจก**
(Greenhouse Gas Emission)
มวลสารทั้งหมดของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อย ณ ช่วงเวลาหนึ่ง
การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก**
(Greenhouse Gas Removal)
มวลสารทั้งหมดของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดึงออกจากบรรยากาศในช่วงเวลาหนึ่ง
แหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก**
(Greenhouse Gas Source)
แหล่งหรือกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ
แหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก**
(Greenhouse Gas Reservoir)
แหล่งหรือองค์ประกอบทางกายภาพของชั้นชีวภาค (ไบโอสเฟียร์) ชั้นธรณีภาค (จีโอสเฟียร์) หรืออุทกภาค (ไฮโดรสเฟียร์) ซึ่งสามารถเก็บและสะสมก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดักจับจากแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดึงออกจากบรรยากาศ โดยแหล่งดูดกลับก๊าซเรือนกระจก
แหล่งดูดกลับก๊าซเรือนกระจก**
(Greenhouse Gas Sink)
แหล่งหรือกระบวนการซึ่งก๊าซเรือนกระจกถูกดึงออกจากชั้นบรรยากาศ เช่น การปลูกป่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียว
ข้อมูลกิจกรรม**
(Activity Data)
ข้อมูลของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยและการดูดกลับของก๊าซเรือนกระจก
ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก**
(Emission Factor)
เป็นค่าที่ใช้ในการแปลงค่าข้อมูลเบื้องต้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ เพื่อคิดเป็นค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมนั้นๆ
ศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน**
(Global Warming Potential)
ค่าศักยภาพของก๊าซเรือนกระจกในการทำให้โลกร้อน ซึ่งขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการแผ่รังสีความร้อนและอายุของก๊าซนั้นๆ ในบรรยากาศ โดยคิดเทียบกับการแผ่รังสีความร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
Clean Development Mechanism
(CDM)
โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด
Thailand Voluntary Emission Reduction Program
(T-VER)
โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย
Carbon Footprint Organization
(CFO)
โครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
City Carbon Footprint
(CCF)
โครงการรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง
Scale-up City Carbon Footprint โครงการพัฒนาแนวทางการรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมืองขนาดใหญ่
ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเภทที่ 1** ปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางตรง ที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในเขตพื้นที่ของเมือง
ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเภทที่ 2** ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม ที่เกิดจากการซื้อไฟฟ้า/ความร้อน/ไอน้ำ มาใช้ในพื้นที่
ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประเภทที่ 3** ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ นอกเหนือจากที่ระบุในประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 เช่น ข้อมูลปริมาณขยะที่เกิดขึ้นภายในเขตการปกครองของเมือง แล้วนำไปกำจัดภายนอกขอบเขตการปกครอง
*  ที่มา: อภิธานศัพท์และคำย่อด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ปี 2555. พิมพ์ครั้งที่ 3. สิงหาคม 2555
** ที่มา: คู่มือการจัดทำข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 1. มิถุนายน 2558


คำย่อที่ใช้ในระบบ

3A การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์ (Livestock)
3A1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการหมักในระบบย่อยอาหารสัตว์ (Enteric Fermentation)
3A2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการมูลสัตว์ (Manure Management)
3B การปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในภาคการใช้ประโยชน์ที่ดินและการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land)
3B - Living Biomass การปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากการเปลี่ยนแปลงชีวมวลเหนือดินและใต้ดิน (Living Biomass)
3B - Dead Organic Matter การปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากการเปลี่ยนแปลงเศษซากอินทรียวัตถุบนพื้นดิน (Dead Organic Matter)
3B - Soil Carbon การกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากการเปลี่ยนแปลงการสะสมปริมาณคาร์บอนในดิน (Soil Carbon)
3C การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งอื่นๆ บนผืนดิน (Aggregate sources and non-CO2 emissions sources on Land)
3C1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้ชีวมวล (Biomass Burning)
3C2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ปูนขาวเพื่อการปรับสภาพดินในพื้นที่การเกษตร (Liming)
3C3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ปุ๋ยยูเรียในพื้นที่การเกษตร (Urea Application)
3C4 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ปุ๋ยเคมีในพื้นที่ที่มีการจัดการดิน (Direct N2O Emission from managed soils)
3C7 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพื้นที่นาข้าว (Rice Cultivations)
4A การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการขยะมูลฝอย (Solid Waste Disposal)
4B การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการบำบัดของเสียด้วยวิธีการทางชีวภาพ (Biological Treatment of Solid Waste)
4C การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาขยะโดยใช้เตาเผาและการเผาในที่โล่ง (Incineration and Open Burning of Waste)
4D การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการบำบัดน้ำเสียและการปล่อยทิ้ง (Wastewater Treatment and Discharge)
tCO2e หน่วยแสดงปริมาณการปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ในหน่วยตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
tCH4 หน่วยแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในหน่วยตันของก๊าซมีเทน
tN2O หน่วยแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในหน่วยตันของก๊าซไนตรัสออกไซด์

ข้อจำกัดของระบบ

  • การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์(3A) ใช้ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และค่าสัมประสิทธิ์หรือค่าคงที่ ตามคำแนะนำในคู่มือ 2006 IPCC Guidelines ในระดับเทียร์ 1 โดยคำนวณจากค่าเฉลี่ยน้ำหนักของสัตว์แต่ละชนิดในกลุ่มประเทศเอเชีย ซึ่งจะมีความแตกต่างกับค่าเฉลี่ยน้ำหนักของสัตว์แต่ละชนิดในประเทศไทย อาจส่งผลทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์มีความคาดเคลื่อนได้
  • ชุดข้อมูลการปล่อยและการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร ป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในช่วงปี พ.ศ. 2555 ทำการคำนวณโดยอ้างอิงชั้นข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากกรมพัฒนาที่ดิน ปัจจุบันจำนวน 59 จังหวัด ส่งผลให้ระบบไม่สามารถแสดงข้อมูลปี พ.ศ. 2555 จากจังหวัดดังกล่าวได้ ทั้งนี้หากกรมพัฒนาที่ดินมีการเผยแพร่ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน อบก. จะทำการแสดงข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลัง


แหล่งข้อมูล: ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินจากกรมพัฒนาที่ดิน
 Copyright © 2014 - 2024 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)